วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554

งานช่างไม้

งานช่างไม้




                     งานไม้เป็นงานช่างที่ใช้ฝีมือและความคิดสร้างสรรค์  ต้องมีความอดทน  ขยัน มีความรับผิดชอบสูง  สามารถนำทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นไม้มาประดิษฐ์เป็นของเล่นของใช้ได้อย่างเหมาะสม  ทั้งที่จะต้องมีทักษะในการใช้เครื่องมือและกระบวนการในการใช้  จึงจะสามารถทำงาน  ไม้ได้อย่างสวยงาม  เรียบร้อย  มีประสิทธิภาพในการใช้เครื่องมือและใช้วัสดุ


                      ปัจจุบันไม้มีคุณค่ามาก หายาก  เพราะป่าไม้ถูกทำลายไปเกือบหมด  จนต้องใช้วัสดุอื่น ๆ มาทดแทนไม้  เช่น  พลาสติก  โลหะ 


               งานช่างไม้ในงานช่างพื้นฐานเป็นงานช่างไม้เบื้องต้น  สามารถปฏิบัติได้ทั้งชายและหญิง  เช่น  การรู้จักเครื่องมือเครื่องใช้  วิธีการใช้วัสดุ  และการเก็บรักษา  การซ่อมบำรุงสิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้าน  เช่น  เฟอร์นิเจอร์  ส่วนประกอบของอาคารบ้านเรือน  เป็นต้น

อ้างอิง : http://www.tkschool.ac.th/~chusak/page2.html



การใช้งานอุปกรณ์ ช่างไม้





                                      

1. โต๊ะทำงาน (Workbench) ทำจากไม้หรือเหล็กประกอบกัน โต๊ะทำงานจะออกแบบเพื่อทำงานได้คนเดียวหรือสองคน แต่บางทีอาจดัดแปลงเพื่อใช้ทำงานได้ถึง 4 คน ก็มี

                             


การเลื่อยตัดและเลื่อยโกรก (Crosscut and rip saw)


                                


1.   การเลื่อยตัด  เลื่อยชนิดนี้จะใช้ตัดไม้ตามขวางเสี้ยนไม้ ฟันของเลื่อยมีความคมสลับกันทั้งซ้ายและขวา สามารถตัดชิ้นไม้ที่มีความกว้างกว่าตัวเลื่อยได้ จำนวนฟันของเลื่อยจะมี 8 ซี่ต่อความยาว 1 นิ้ว




                               

2.   การเลื่อยโกรก การโกรก หมายถึง การผ่าหรือตัดไม้ตามความยาวของเสี้ยนได้ ฟันของเลื่อยจะห่างและเอียงองศามากกว่าเลื่อยตัด ซึ่งเมื่อตัดลงไปในเนื้อไม้จำนวนฟันของเลื่อยจะนับ  5จุดต่อนิ้ว หรือ  5ฟันต่อนิ้ว  

                                                                              


3.   เลื่อยรอ (Back saw) เป็นเลื่อยมีลักษณะเส้น (Back) แข็ง มีฟันละเอียดจำนวน 14 สี ต่อความยาว 1 นิ้ว ใบเลื่อยบาง ความยาวที่นิยมใช้กันทั่วไปคือ ยาว 12 นิ้ว ใช้กับงานที่ต้องการ ความประณีต เช่น ตู้ ผ่าเดือย หรือการเข้ามุมไม้ เป็นต้น
วิธีการใช้เลื่อยกับงานไม้

1. การตัดไม้ (Crossing wood) ทำเครื่องหมายที่ต้องการจะตัดบนไม้ นำไม้ยึดติดกับแคลมป์เพื่อให้ปลอดภัย ไม้ที่ยาวหรือกว้างจนยึดไม่ได้ ให้นำไปเลื่อยบนโต๊ะม้านั่ง การเลื่อยให้วางฟันเลื่อยใกล้กับเส้นที่ลากไว้ (อยู่ริมนอกของเส้น) ใช้หัวแม่มือซ้ายกันใบเลื่อยให้อยู่ตรงแนวลากใบเลื่อย เข้าหาตัวช้า ๆสั้น ๆ  หลายครั้ง จนใบเลื่อยเกิดเป็นร่อง ใช้ฉากเหล็กมาวัดฉากหลังจากเริ่มตัดแล้วให้ดึงใบเลื่อยยาว ๆ โดยเอียงเลื่อยทำมุม 45องศา กับไม้ ก่อนไม้จะขาดควรใช้มือข้างซ้ายประคองไม้ไว้ เพื่อป้องกันไม้ฉีกขาด


2.   การโกรกไม้ (Ripping wood) หรือเรียกอีกอย่างว่า “การซอยไม้” ปฏิบัติได้ดังนี้ หลังจากทำเส้นกำหนดบนไม้แล้ว ยึดไม้ให้แน่นกับแคลมป์หรือวางบนโต๊ะม้านั่ง  ควรอยู่ในลักษณะที่ชักใบเลื่อยได้สะดวกจนสุดใบ เมื่อเริ่มโกรกไม้ให้ทำเช่นเดียวกับการตัดไม้ แต่ให้ใบเลื่อยเอียงทำมุม 60 องศากับไม้ ถ้าใบเลื่อยตัดขณะที่ซอยไม้ยาว ให้เสียบลิ่มในร่องที่ตัด เพื่อจะทำให้ตัดไม้ได้ง่ายขึ้น


3.    การใช้เลื่อยรอเลื่อยไม้ มีลักษณะการปฏิบัติงานคล้ายกับการตัดไม้ เพียงแต่งานที่ใช้กับเลื่อยรอเป็นงานประณีต และมีความถูกต้องแน่นอน


หมายเหตุ เมื่อปฏิบัติงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว อย่าวางเลื่อยบนพื้น ควรนำเลื่อยไปแขวนไว้ ไม่ควรตัดไม้หรือโกรกไม้โดยไม่ได้ตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่ามีตะปูติดค้างอยู่ที่ไม้ เพราะจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ใบเลื่อยเสียหาย







 เครื่องมือที่ใช้ตอก (Briving tools)จะแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ
                             
1.   ค้อนหงอน (Claw hammer) ค้อนชนิดนี้เหมาะกับช่างไม้โดยเฉพาะ เป็นค้อนเหล็กหน้าค้อนที่ใช้ตอกตะปูจะโค้งนูนออกมาเล็กน้อย เวลาตอกตะปูหน้าค้อนจะไม่ฝังเข้าเนื้อไม้เป็นรอยบุบมีหงอนอยู่ที่หัวมีร่อง เพื่อถอนตะปูได้สะดวก ที่ด้ามจะเป็นไม้และกลึงเป็นส่วนเว้าเพื่อสะดวกในการจับหรือปฏิบัติงาน  ขนาดของค้อนจะบอกเป็นปอนด์หรือออนซ์ ค้อนที่ดีควรให้หน้าค้อนสะอาดปราศจากไขมัน ยาง หรือกาว ไม่เช่นนั้นการตอกตะปูจะทำให้ตะปูงอได้ง่าย


2.   ค้อนไม้ (Mallet) เป็นค้อนที่ทำจากไม้เนื้อแข็ง มีความยืดหยุ่นดีกว่าเหล็ก ใช้กับงานสิ่วเจาะไม้ (ไม่ควรใช้ค้อนเหล็กตอกเพราะด้ามสิ่วจะแตก) ลักษณะของค้อนไม้ที่ส่วนหัวและด้ามจับจะเป็นไม้ที่กลึงกลมเป็นสี่เหลี่ยม ขนาดโดยทั่วไปที่เหมาะสมจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางของหัวค้อน 3 นิ้ว และยาว 5 นิ้ว


3.   ไขควง (Screw drivers) ไขควงมีใบยาวขนาดตั้งแต่ 2 นิ้วถึง 18 นิ้ว ไขควรที่ดีใบเชื่อมจะติดไปถึงด้ามจับตอนใน เพื่อป้องกันไม่ให้ด้ามหมุนตามในขณะที่ขันแรง ๆ ไขควงแบบใบยาวจะมีกำลังดีกว่าใบสั้น ตอนปลายของใบควรจะแบนและได้ฉาก และหนาไม่เกินร่องตะปูควงที่จะไข มิฉะนั้นจะทำให้ร่องตะปูเสีย  นอกจากนั้นยังมีไขควงที่ช่วยให้ทำงานง่ายขึ้นอีก เรียกว่า ไขควงอัตโนมัติ (Automatic screw driver) การทำงานเพียงกดด้ามลง ใบไขควงจะทำงานเอง จึงไม่ต้องออกแรงมาก


                                


                       เครื่องมือไสไม้ (Planer tool) ในงานช่างไม้ได้แก่ กบ (Planers) กบถือเป็นเครื่องมือสำคัญและขาดไม่ได้สำหรับช่างไม้ เนื่องจากกบเป็นเครื่องมือที่ใช้แต่งผิวไม้ให้เรียบได้ขนาดตามความต้องการ ตัวกบอาจทำด้วยไม้หรือด้วยเหล็ก ดังนั้นกบที่ใช้กันแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

         


1. กบไม้ มีส่วนประกอบดังนี้


-     ตัวกบ ทำจากไม้เนื้อแข็งที่ไม่ยืดหรือหดตัวเร็ว ไม้ที่นิยมใช้กันคือ ไม้ชิงชัน หรือไม้ประดู่ ไม้แดง หรือไม้พยุง ขนาดความยาว 16” หนาประมาณ 2  ½” มีร่องเจาะด้านหลังเอียง 45 องศาเหลือเนื้อไม้ตอนริม ¼” ความกว้างของร่องจากริมหลังถึงริมหน้า 1 ¾” –2” และที่ด้านหลังเจาะรูเป็นวงกลมหรือวงรี ขนาดประมาณ ¾” ไว้ใส่ด้ามจับ


-     ใบกบ ทำจากเหล็กกว้าง 1 ¾” หนาประมาณ 3/16” ยาวประมาณ 6  ½” มีคมที่ส่วนล่างเพื่อใช้ขูดไม่ให้เรียบ เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของกล


-     เหล็กประกับใบ หรือเหล็กประกับกบ อยู่ระหว่างใบกบและลิ้นติดกับใบกบ โดยมีน็อตสกรูยึดติดเหล็กประกันใบนี้ ขนาด 1/8” x 1 ¾” x 4” มีหน้าที่เสริมกำลังตอนปลายของใบกบไม่ให้อ่อนหรือบิดในเวลาที่ทำการไส และควบคุมการกินของไม้ เพื่อไม่ให้ไม้ย้อน


-     ลิ่ม เป็นแผ่นไม้ชนิดเดียวกับไม้ที่ทำตัวกบคล้ายหัวขวานแต่บางกว่า ใช้ตอกอัดเข้าร่องเวลาใส่ในกบ เพื่อให้ใบกบแน่น


-         ก้านหรือมือจับยาวประมาณ 9”-10” รูปวงกลมหรือวงรีช่วยให้จับกบได้เหมาะมือ


                    


2. กบเหล็ก ลักษณะโดยทั่วไปแตกต่างกับกบไม้ การใช้งานง่ายกว่ากบไม้ ผลงานที่ออกจากการใช้กบ พบว่ากบเหล็กมีประสิทธิภาพดีกว่า ให้ผลที่แน่นอน และเรียบร้อยกว่ากบไม้ การประกอบและการปรับก็ง่ายกว่า แต่ในเมืองไทยไม่ค่อยนิยมใช้ จึงทำให้ไม่คุ้นกับการใช้กบเหล็ก ซึ่งดูจะซับซ้อน ยุ่งยาก



ชนิดของกบ


1.   กบล้างยาว ขนาดโดยทั่วไป 2 x 2 ½” x18 มุมเอียงของใบกบประมาณ 45”-50 ใช้สำหรับไสไม้ให้เรียบและตรงระยะยาว ๆ หรือใช้ล้างแนวไสให้เรียบขึ้น


2.   กบล้างกลางและสั้น มีขนาดสั้นกว่ากบล้างยาว คือมีขนาด 12 (สำหรับกบล้างกลาง) และมีขนาด 6” (สำหรับกบล้างสั้น) ส่วนประกอบอื่น ๆ คล้ายกับกบล้างยาวทุกอย่าง ใช้ไสไม้ที่มีความยาวไม่มากนักให้เป็นเส้นตรง


3.   กบผิว ลักษณะจะคล้ายกับกบล้าง คือ มีความยาวใกล้เคียงกัน แต่ที่แตกต่างกันคือมุมของใบกบจะเอียงประมาณ 50 60 องศา และกบผิวจะไม่มีฝาประกับกบ มีแต่ลิ่มไม้เท่านั้น กบผิวใช้ต่อจากการใช้กบล้าง เพื่อไสไม่ให้เรียบมากยิ่งขึ้น


นอกจากชนิดของกลที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีชนิดของกบอื่นๆ อีกที่ใช้ในงานไม้ แต่จะใช้เฉพาะงานที่ต้องการ เช่น การบังใบวงกบประตู หน้าต่าง จะเลือกใช้กบบังใบ เป็นต้น นอกจากกบบังใบแล้วยังมีกบกระดี่ กบราง กบขูด และกบบัว ที่ใช้ในงานไม้ด้วย


 


การประกอบและปรับใบกบไม้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทราบและศึกษาให้เข้าใจถึงการประกอบและปรับในกบ เพื่อจะปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การประกอบและปรับในกบไม้สามารถทำได้ดังนี้


1.      ตรวจสอบใบกบว่ามีความคมหรือไม่ ถ้าไม่คมต้องลับใบกบให้คมเสียก่อน


2.   ประกอบใบกบและฝาประกับใบเข้าด้วยกัน จากนั้นยึดด้วยน็อตสกรูให้แน่น (กรณีเป็นกบผิวจะไม่มีเหล็กประกับใบ) เมื่อได้แนวที่แน่นอนแล้ว ให้มีระยะแนวห่างประมาณ 1/16


3.   ใส่ก้านมือจับเข้าไปในรูป แล้วนำส่วนประกอบในข้อ 2 ใส่ในซองของตัวกบ โดยเอาทางฝากขึ้นข้างบน


4.      ใช้มือซ้ายประคองใบกบไว้ แล้วใช้มือขวา ดันลิ่มใส่เข้าไปในช่องตัวกบ


5.   หงายตัวกบกลับขึ้นแล้วเล็งดูใบกบว่ายื่นมากน้อยแค่ไหน ใบจะต้องไม่เอียงไปทางใดทางหนึ่ง จะต้องขนานกับท้องของตัวกบ เมื่อได้ความลึกที่ต้องการแล้ว ใช้ค้อนตอกลิ่มให้แน่น


6.   ถ้าไม่ได้ความลึกที่ต้องการให้ใช้ค้อนเคาะเบา ๆ ที่ท้ายตัวกบ ใบกบจะถอยกลับออกมาเอง จากนั้นจึงค่อยตั้งใบกบใหม่




                      



         
1.   สิ่ว (Chisels) คือเครื่องมือในงานไม้ที่เป็นเหล็ก มีความคม จึงต้องระวังเป็นพิเศษ เมื่อไสไม้ได้ขนาดแล้ว งานที่จะทำต่อไปคือการประกอบไม้เข้าด้วยกันโดยการเจาะ สิ่วจึงเป็นเครื่องมือที่ใช้ในงานเจาะมากที่สุด การแบ่งสิ่วตามลักษณะที่สร้างมาในท้องตลาด แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ


-         สิ่วที่โคนเรียวแหลมฝังเข้าไปในด้าม เรียกว่า Tang


-         สิ่วที่ด้ามฝังเข้าในโคนสิ่ว เป็นท่อเรียวกลวงข้างใน เรียกว่า Socket


แต่ถ้าแบ่งสิ่วตามชนิดและลักษณะของการใช้งาน สามารถแบ่งได้ดังนี้


ก.   สิ่วใบหนา (Firner chisel) สิ่วชนิดนี้จะมีใบที่หนาแข็งแรง ใช้งานได้ทั้งหนักและเบาขนาดความกว้างมีตั้งแต่ 1/8” –1” (ขนาดสิ่วเรียกตามความกว้าง)


ข.   สิ่วปากบาง (Paring chisel) สิ่วชนิดนี้ใบจะบางกว่าชนิดแรก โดยทั่วไปจะใช้สิ่วนี้เซาะไม้ด้วยมือ ไม่นิยมใช้ตอก ตอนริมของใบสิ่วจะเอียงลาดลงไปหาอีกด้านหนึ่ง เพื่อทำงานละเอียด มีขนาดตั้งแต่ 1/8” –2”


ค.   สิ่วเข้าโครง (Framing chisel) ตัวสิ่วจะหนักและแข็งแรงมาก ใช้ในงานหนัก ๆ เช่น การประกอบโครงเรือ สิ่วชนิดนี้จะมีวงแหวนเหล็กที่ด้ามเพื่อกันด้ามแตก


ง.   สิ่วเดือย (Mortisel chisel) ใช้สำหรับเจาะร่องรับเดือย ลักษณะพิเศษคือ ตัวสิ่วตั้งแต่ด้ามลงมาที่ตัวสิ่วจะหนา เพราะเวลาเจาะต้องใช้สิ่วงัดเพื่อให้ไม้หลุด ซึ่งใช้กำลังมากกว่าสิ่วธรรมดาที่กล่าวมาแล้ว


จ.   สิ่วทำบัวหรือสิ่วเซาะร่อง เป็นสิ่วที่ใช้ทำบัว เซาะร่อง เจาะรูกลม หรือแต่งไม้ส่วนที่เป็นโค้ง ใบสิ่วมีลักษณะรูปโค้งเว้า ขนาดใบกว้าง ¼” –2” มักเรียกสิ่วชนิดนี้ว่า สิ่วเล็บมือ

                                          




2.      สว่าน (Drills)


การเจาะรูเล็ก ๆ เพื่อนำน็อต สกรู หรือตะปูยึดติด อาจจะต้องใช้เครื่องมือเจาะรูที่เรียกว่า สว่านสว่านที่ใช้เจาะมีรูปร่างต่าง ๆ กัน แล้วแต่ชนิดของงานที่ใช้ ดังนี้


-         สว่านข้อเสือ


-         สว่านมือ


-         เหล็กหมาดและบิดหล่า

                     


-     สว่านข้อเสือ (Brace drills) ช่างไม้นิยมใช้สว่านเจาะรูปช่วยในการทำรูเดือย ส่วนประกอบของสว่านชนิดนี้มี 3 ส่วนคือ ส่วนหัว (Head) ส่วนมือจับ (Handle) และที่ปรับดอกสว่าน (Chuck) การใช้งานจะหมุนตามเข็มนาฬิกา เพื่อยึดให้แน่น แต่ถ้าจะคลายต้องหมุนไปทางซ้าย สามารถใช้งานได้ทั้งแนวราบและแนวตั้ง


                                


-     สว่านมือ (Hand drill) หรือสว่านเจาะนำ การเจาะรูชิ้นงานจะเจาะให้เล็กกว่า ¼” สามารถเจาะได้ทั้งงานเหล็กและงานไม้ ลักษณะแตกต่างกับสว่านข้อเสือ ส่วนที่ใช้หมุนดอกสว่านเพื่อยึดชิ้นงานจะใช้ส่วนที่เรียกว่า Crank ถ้าใส่ดอกสว่านไม่ดี ดอกสว่านจะหักง่าย สว่านเมื่อสามารถเจาะได้ทั้งแนวราบและแนวตั้ง


ก.   เหล็กหมาด (Brad awl) รูปร่างคล้ายไขควงเล็ก ๆ ใช้สำหรับเจาะในเวลาที่จะตอกตะปูหรือตะปูเกลียว วิธีใช้จะกดลงในเนื้อไม้แล้วบิดซ้ายขวา ไม่ควรใช้กับไม้บาง


ข.   บิดหล่า (Gimlet bit) ใช้เจาะรูขนาดเล็ก ๆ ที่ต้องการฝังตะปูควงเข้าไปในเนื้อไม้แข็งมีขนาดตั้งแต่ 1/16” – 3/8”


อุปกรณ์ที่ใช้ควบคู่กับกับเครื่องมือที่เจาะรูที่กล่าวมาแล้ว ถือว่ามีความสำคัญในการเจาะรูที่จะขาดเสียไม่ได้ นั่นก็คือ ดอกสว่านเพื่อความเข้าใจในเรื่องการเจาะให้มากขึ้นจะขออธิบายถึงดอกสว่านดังนี้


                            
                        

1. ดอกสว่านเจาะ (Drill bit) ใช้กับงานที่ต้องการคว้านเนื้อไม้ภายในวงกลมออก มี 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นลำตัว และส่วนปลายที่เป็นเกลียว ส่วนที่เป็นเกลียวที่ปลายจะแหลมคม เกลียวเล็ก ๆ ที่ตอนปลายจะฝังและดูดส่วนอื่นให้เข้าในเนื้อไม้ เกลียวจะมีทั้งชนิดหยาบและละเอียด ขนาดของดอกสว่านเรียกเป็นเศษส่วน 16 ของนิ้วเสมอ เช่น ขนาด 3/16” (ขนาดที่กล่าวมานี้หมายถึงขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลางรูที่จะเจาะ) ที่ตอนโคนเป็นรูปเรียวเหลี่ยม สำหรับจำปายึดแน่น
                          


2. ดอกสว่านขยายหัว (Expansive bit) ลักษณะหัวสามารถขยายหรือลดลงได้โดยเลื่อนตอนปลายของดอกสว่าน ใช้เจาะรูได้ตั้งแต่ 1” ขึ้นไป สามารถเจาะได้ถึง 4” เหมาะกับงานเจาะรูกุญแจ และงานท่อน้ำผ่าน (บ้านที่มีฝาเป็นไม้)

                                


3. ดอกสว่านรูลึก (Foerstner bit) ลักษณะที่หัวดอกสว่านเป็นสัน มีทั้งที่เป็นเกลียวและไม่เป็นเกลียว ซึ่งจะเจาะได้ลึกเป็นพิเศษจนถึงเจาะไม่ได้ ใช้เจาะในงานต่าง ๆ ได้ดี เช่น รูกุญแจ หรือเจาะรูช่องลำโพงวิทยุ เป็นต้น มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ ¼” –2”
                             
4. ดอกสว่านเฉพาะงาน (Straight-shank drill) ใช้เจาะรูกลมเล็ก ๆ ลักษณะของดอกสว่านมีปีก 2 ข้าง เกสรเป็นเกลียว ในแต่ละเกลียวมีร่องสำหรับเก็บเศษไม้ ขนาดที่มีในท้องตลาดตั้งแต่ 1/16” – ½” (ขนาดจะแบ่งย่อยละเอียดกว่าชนิดอื่น ๆ เพื่อการใช้งานเฉพาะ) ใช้สำหรับเจาะรูเพื่ออุดหัวตะปูในงานเข้ามุมของโต๊ะ เก้าอี้ วงกบ เป็นต้น


                        


5. ดอกสว่านอัตโนมัติ (Automatic drill bit) ใช้สำหรับงานเจาะรูเล็ก ๆ เช่นเดียวกับข้อ 4 แต่การทำงานจะสะดวกกว่า เมื่อใช้ควบคู่กับไขควงอัตโนมัติ คือสามารถใช้มือเพียงข้างเดียวทำงานได้


การใช้งานของดอกสว่าน


            เพื่อการเจาะในงานไม้จะทำได้โดยบังคับดอกสว่านด้วยที่บังคับ และปรับความลึกตามที่ต้องการ หรืออาจะทำที่บังคับใช้เองก็ได้ ดอกสว่านที่นำมาใช้งานต้องเลือกดอกสว่านตามขนาดและชนิดที่เหมาะสมกับงาน ทำเครื่องหมายที่จะเจาะ (เครื่องหมาย +) ไว้แล้วตั้งสว่านให้ได้ฉากกับไม้ที่จะเจาะ เพื่อจะได้แนวตรง ขณะที่เจาะไม้ควรระวังความลึกด้วย เพราะบางครั้งอาจไม่ต้องการเจาะทะลุ เมื่อเจาะได้ความลึกที่ต้องการแล้ว ให้นำดอกสว่านออกจากรู และเศษผลไม้ต่าง ๆ ออกจากรูให้สะอาดด้วย การใช้งานของดอกสว่าน

การแต่งคมเครื่องมือ


            เครื่องมืองานช่างไม้ที่ดีควรจะต้องพร้อมที่จะใช้งาน ไม่ว่าจะเรื่องความคม การประกอบหรือการใช้ สิ่งหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งก็คือ ความคมของเครื่องมือ ซึ่งจะส่งผลให้งานออกมาได้ผลดีตามไปด้วย ดังนั้นนักศึกษาจึงควรได้ศึกษาและให้ความสนใจในเรื่องการลับคมของเครื่องมือ และสามารถปฏิบัติได้เองพอสมควร เมื่อใดที่นำเครื่องมืองานไม้ไปใช้งาน แต่ไม่มีการลับคมเครื่องมือที่ดี งานที่ทำจะยุ่งยากและไม่สะดวก การแต่งคมเครื่องมือในงานไม้ที่สำคัญ ๆ ได้แก่ การลับฟันเลื่อย การใบกล สิ่ว และดอกสว่าน ต่อไปนี้จะอธิบาย โดยละเอียดดังนี้


ก.     การลับฟันเลื่อย แบ่งได้ 3 ขั้นตอน คือ


1.      แต่งระดับและรูปร่างของฟันเลื่อย


2.      การคัดลองเลื่อย


3.      การตะไบฟันเลื่อย


การลับฟันเลื่อยทั้ง 3 ขั้นตอน สามารถปฏิบัติได้ดังนี้คือ ตรวจสอบฟันเลื่อยว่าตั้งไว้อย่างไร (สังเกตจากการมองจากด้ามไปปลายเลื่อย) ถ้ามีระดับไม่เท่ากันให้ใช้ตะไบแบนรูดตลอดฟันเลื่อย จนปลายฟันเลื่อยสัมผัสตะไบ (การยึดเลื่อยเพื่อตะไบต้องจับใบเลื่อยเข้าระหว่างแม่แรงหรือแคลมป์กับไม้แล้วยึดให้แน่น) เมื่อปลายของฟันเลื่อยเสมอกันหมดแล้ว ทำฟันเลื่อยให้เบนออกสลับกัน โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า คัดคลองเลื่อย (ตั้งจำนวนฟันต่อความยาว 1 นิ้ว ให้ตรงกับจำนวนฟันต่อความยาว 1 นิ้วของเลื่อยนั้น ซึ่งจะได้มุมถูกต้อง) การคัดคลองเลื่อยให้เริ่มจากด้ามถือออกไปหาปลาเลื่อย การคัดฟันให้คัดฟันหนึ่งเว้นฟันหนึ่งไปจนครบ เมื่อครบแล้วให้กลับใบเลื่อยแล้วคัดคลองของฟันที่เว้นไว้ไปจนหมดเช่นกัน ต่อจากกนั้นใช้ตะไบสามเหลี่ยม ตะไบฟันเลื่อย โดยให้มีน้ำหนักกดสม่ำเสมอโดยดันไปข้างหน้า การตะไบให้เริ่มจากปลายเลื่อยมาหาด้ามเลื่อยตะไบทุกซี่อย่างถูกต้อง จนฟันแหลมคม (การตะไบฟันเลื่อยตัด ให้ถือตะไบเฉียงทำมุม 60 องศา กับใบเลื่อย)


ข.   การลับใบกบ ใบสิ่ว เมื่อใบกบ ใบสิ่ว ไม่คม หรือบิ่น ต้องแต่งและลับให้ได้รูปร่างเช่นเดิมเพื่อให้การทำงานได้สะดวกและถูกต้อง ควรปฏิบัติการลับคมดังนี้


-     นำใบกบออกจากตัวกบ เพื่อนำไปลับคม โดยยึดติดกับที่ยึดของเครื่องลับหรืออาจใช้มือ ให้ด้านมุมเอียงของใบวางเข้าหาหินลับ แล้วลับไปจนได้แนวตรงและมุมที่เหมาะสม (ขณะลับใบและแต่งแนวควรหยอดน้ำบนหินลับตลอดเพื่อป้องกันเหล็กไหม้) ความยาวของส่วนที่เฉียงปลายประมาณ 2 เท่าของความหนาของใบกบ หรือ 30 – 35 องศา ต่อจากนั้นให้นำใบกบหรือสิ่วมาลับบนหินน้ำมันอีกครั้งหนึ่ง ขั้นตอนนี้ควรใช้น้ำมันไม่ควรใช้น้ำ เพราะจะทำให้เศษโลหะเล็ก ๆ ฝังเข้าไปในผิวของหิน หลังจากนั้นให้กลับใบแล้วถูเบา ๆ ทางด้านแบนบนหินน้ำมัน 2-3 ครั้ง ชั้นสุดท้ายลากใบกบหรือสิ่วไปมาบนแผ่นหนังหรือสะบัดคมเหมือนการลับมีดโกน


-     ต้องการทดสอบความคมของใบกบหรือสิ่วที่ลับโดยใช้เล็บหัวแม่มือพาดลงบนปลายกบหรือสิ่ว ถ้าใบคมจะรู้สึกกินเล็บ ถ้าไม่คมจะลื่นไถล หรือใช้ในกบหรือสิ่วกดลงบนกระดาษ ถ้าคมกดกัดกระดาษแสดงว่าคมใช้ได้


ค.   การลับคมดอกสว่าน เพื่อให้ดอกสว่านที่ใช้เจาะรูไม้มีความคม และเจาะรูไม้เพื่อทำงานได้ง่าย มีวิธีการปฏิบัติดังนี้คือ ต้องหาที่มั่นคงแข็งแรง เช่น โต๊ะทำงาน แล้ววางดอกสว่านบนโต๊ะ จับยึดให้แน่น นำตะไบแต่งคมมาแต่งคมดอกสว่านทีละซี่ ไปเรื่อย ๆ โดยถ้าวางกับไม้ที่แข็งแรงให้กดตะไบลง แต่ถ้าวางบนโต๊ะให้ทำมุมเงยกับโต๊ะแล้วจึงใช้ตะไบแต่งคม จนครบทุกซี่ ตรวจสอบความคม เช่นเดียวกับการตรวจสอบใบกบ สิ่วก็ได้





เครื่องมือประกอบในงานช่างไม้


เครื่องมือที่ใช้ประกอบในงานต่าง ๆ ของช่างไม้จะทำให้ประสิทธิภาพของงานสูงขึ้น และเกิดความถูกต้อง ซึ่งประกอบด้วยเครื่องมือชนิดต่าง ๆ ดังนี้
                    


1.   ระดับน้ำ (Levels) ทำจากไม้หรือโลหะ รูปร่างยาวประมาณ 1 ¾”  x 3” x26” เป็นต้น ตรงกลางจะฝังหลอดแก้วซึ่งบรรจุน้ำไว้ภายใน (บางชนิดเป็นแอลกฮอล์) น้ำที่ใส่ในหลอดจะไม่เต็มและเหลือเป็นฟองอากาศ เพื่อตรวจสอบระดับ วิธีการตรวจสอบระดับคือ วางระดับน้ำบนชิ้นงาน ถ้าฟองอากาศในหลอดแก้วนี้อยู่ตรงกลาง แสดงว่าได้ระดับที่แท้จริง (บางชนิดจะมีทั้งหลอดแก้วในแนวตั้งและแนวนอน)


                                      
2.   ลูกดิ่ง (Plumb bob) ทำจากเหล็กหรือทองเหลือง รูปร่างคล้ายลูกข่าง ตอนปลายเรียวแหลม ตอนล่างมีที่ร้อยด้ายหลอด ลูกดิ่งใช้สำหรับทดสอบแนวดิ่งของอาคารกับส่วนอื่น

            


3.      ขอขีดไม้ (Maring gauge) ได้อธิบายรายละเอียดต่าง ๆ ไว้ข้างต้นแล้ว



                            


4.   เหล็กส่งหัวตะปู (Nail set) เป็นแท่งเหล็กตันยาวประมาณ 4-5 นิ้ว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ¼ นิ้ว ปลายเรียว ขนาดของปลายไม่แน่นอน แล้วแต่ขนาดตะปูที่ใช้ส่งหัวลงในเนื้อไม้ เพื่อประโยชน์ในการเก็บรอยตะปูที่เป็นงานเคลือบเงาต่าง ๆ

                 


5.   ตะไบและบุ้ง (Files and rasp) ตะไบและบุ้งใช้แทนเครื่องมืออื่นที่ตัดแต่งไม่สะดวก ตะไบที่ใช้แต่งคมเครื่องมือช่างไม้มีหลายชนิดแตกต่างกัน เช่น ตะไบแบน ตะไบครึ่งวงกลม ตะไบกลม และตะไบสามเหลี่ยม ขนาดของตะไบจะยาวตั้งแต่ 4-14 นิ้ว ฟันของตะไบแบ่งเป็น 2 ชนิด คือฟันคู่ (Double cut) และฟันเดี่ยว (Single cut) ส่วนลักษณะของบุ้งจะหยาบกว่าตะไบ โดยจะมีส่วนที่ยื่นแหลมออกมาเป็นปุ่มๆ เรียกว่าฟัน สามารถจะทำงานได้เร็วกว่าตะไบ แต่งานจะหยาบกว่า ดังนั้นการใช้งานควรใช้ควบคู่กันโดยใช้บุ้งก่อนแล้วจึงเก็บงานด้วยตะไบ

อ้างอิง : http://www.st.ac.th/engin/wood.html

                                                                            
การดูแลรักษาเครื่องมืองานช่างไม้




                               
                             

1.ดูแลรักษาความสะอาดบนโต๊ะฝึกงานและพื้นที่รอบๆ
2. เก็บเครื่องมือให้เรียบร้อยเมื่อใช้งานเสร็จ
3. ตรวจสอบเครื่องมือด้วยน้ำมันหรือจาระบี เพื่อรักษาเครื่องมือที่เป็นโลหะ4. ควรเก็บเศษวัสดุดิบใส่ในกล่องหรือถังเก็บ
5. ทำความสะอาดทุกครั้งเมื่อเสร็จงาน เพราะความสะอาดในโรงงานเป็นความปลอดภัยอย่างหนึ่ง

อ้างอิง : http://www.st.ac.th/engin/wood.html


ความปลอดภัยในการใช้เครื่องมืองานช่างไม้

ความปลอดภัยในการทำงาน
1. ทำงานตามขั้นตอนที่ถูกต้อง
2. ปรึกษาผู้ให้คำแนะนำในการททำงาที่ถูกต้องและปลอดภัย
3. อย่าลืมคำว่า ความถูกต้อง ต้องมาเป็นอันดับแรก
4. คำขวัญที่ดีกล่าวได้ว่า สิ่งที่ดีที่สุดคือ ความปลอดภัย
5. หลีกเลี่ยงการเล่นอย่างคึกคะนองและให้ความสนใจป้ายเตือนต่างๆในโรงเรียน
การป้องกันตัวในการทำงาน
1. เสื้อผ้าที่หลวมจะโดนเครื่องจักรดึงหรือกระชากได้ เสื้อที่มีแขวนยาวควนติดกระดุมข้อมือให้แน่น หรือพับให้ถึงข้อศอก เสื้อผ้าที่ควรใช้ทำงานไม่ควรเป็นเสื้อแขนสั้นหรือเสื้อฝึกงาน
2. ควรถอดแหวน นาฬิกา และเครื่องประดับอื่นๆ ก่อนที่จะทำงานกับเครื่องมือ และเครื่องจักร
3. ควรสวมแว่นป้องกันแสงหรือป้องกันสายตา ประกอบด้วยเครื่องบังเพื่อป้องกันดวงตาจากเศษไม้ ตะปู ขี้เลื่อย และรอยเปื้อนต่างๆ
4. ควรสวมเสื้อป้องกันหูเมื่อทำงานรอบๆ เครื่องจักรในระยะเวลานานๆ
5. ควรเก็บหรือรวบรวมผมที่ยาวให้ห่างจากเครื่องจักรที่กำลังทำงาน การผูกผมไว้ด้านหลังหรือใช้ผ้าคลุมผม จะช่วยป้องกันอุบัติเหตุได้ส่วนหนึ่ง
การรายงานอุบัติเหตุ
            การรายงานอุบัติเหตุต่างๆ ไม่ใช่สิ่งสำคัญเพียงเล็กน้อย และสิ่งที่ช่วยกันอันดับแรก คือ เมื่อมีแผลที่เกิดจากการตัดหรือขีดข่วน ซึ่งจะทำให้เชื้อ โรคเข้าไปในบาดแผลได้ หรือบางสิ่งบางอย่างเข้าตาแม้เพียงเล็กน้อย ต้องไปให้แพทย์ตรวจทันที

อ้าง http://www.st.ac.th/engin/wood.html